water 1

โรคร้ายและอันตราย ที่อาจมากับน้ำไม่สะอาด ปราศจากการกรอง

–โควิท 19 ที่ว่าอันตราย ยังไม่ส่งผลร้ายเท่าการทำร้ายร่างกายตัวเองจากการดื่มน้ำไม่สะอาดเป็นประจำ —

คุณทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 1,700 ราย ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและโรคภัยจากน้ำดื่มที่ไม่สะอาด และมีผู้คนกว่า 2.2 พันล้านที่เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสะอาดที่เหมาะสมสำหรับการดื่มกิน 

ปัญหาเรื่อง “น้ำดื่ม” จึงถูกจัดเป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ของโลกที่ต้องการการแก้ไขโดยทันท่วงที  แต่ก็นับเป็นโชคดีของเมืองไทย ที่เรื่องของการเข้าถึงระบบกรองน้ำดื่ม ไม่ได้เป็นปัญหาหลักอย่างเช่นประเทศด้อยพัฒนาอื่น ๆ อาทิ ในทวีปแอฟริกา หรือตะวันออกกลาง 

แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมีแหล่งน้ำดื่มที่เพียงพอ ทว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยกลับก็ต้องป่วย และประสบปัญหาสุขภาพ จากน้ำดื่มที่ไม่สะอาด น้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงสารเคมี ซึ่งข้อมูลทางสถิติได้โชว์ตัวเลขอันน่าตกใจเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องน้ำดื่มไว้ว่า “ประชากรโลกป่วยจากการดื่มน้ำปนเปื้อนอุจจาระ ปีละประมาณ 1,800 ล้านคน เช่น โรคอุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น และเสียชีวิตปีละประมาณ 5 แสนคน เฉลี่ยนาทีละ 1 คน” (ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)

ทั้งนี้ จากผลสำรวจน้ำดื่มในประเทศไทยก็พบว่ายังมีปัญหาเรื่องของน้ำขุ่น น้ำกระด้าง รวมไปถึงน้ำที่มีสารคลอรีนตกค้าง ที่พบได้อยู่เป็นประจำ 

ดังนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้เท่าทันเพื่อหมั่นระมัดระวังเรื่องของน้ำดื่มเพื่อการบริโภค บทความในวันนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคร้าย
และสารอันตรายที่ร่างกายได้รับเมื่อดื่มน้ำที่ไม่สะอาด ปราศจากการกรองให้ได้ทราบกันค่ะ  

ร่างกายได้รับสารเคมีตกค้าง หนึ่งในสิ่งที่คนเราเกรงกลัวกันมากที่สุดเมื่อมาถึงเรื่องของความสะอาดของน้ำดื่ม น่าจะเป็นเรื่องของสารเคมีที่ตกค้าง เพราะ “เห็นใสๆ แต่อาจเต็มไปด้วยสารอันตราย”

ทั้งนี้ เพราะสารอันตรายเหล่านี้ล้วนมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า บ้างรับรู้ไม่ได้ด้วยกลิ่น หรือในบางกรณี แม้ว่าภาชนะส่วนตัว เช่น แก้วน้ำส่วนตัวจะสะอาดแต่ทว่าเรามิอาจล่วงรู้ได้ว่าบรรดาท่อ ถังเก็บน้ำ หรือแม้แต่ตู้กดน้ำที่ใช้กันอยู่ทุกวี่วันนั้น สะอาด ถูกทำขึ้นตามมาตรฐาน หรือ ปราศจากสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ สารปนเปื้อนมักมาในรูปของ “โลหะหนัก  (Heavy Metal)” ซึ่งจัดเป็นธาตุที่มีน้ำหนัก แม้บางชนิดจะเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่โลหะหนักหลายชนิดล้วนเป็น “พิษ” ต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณไม่เหมาะสม ซึ่งโลหะหนักที่เป็นพิษต่อร่างกาย นั้นได้แก่ 

  • เหล็ก: หากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายๆ ทาง เช่น ส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายย่อยอาหารได้ลดลง สร้างภาวะหลอดเลือดขยาย ทำให้ความดันโลหิตลด เลือดจะแข็งตัวช้า รวมไปถึงเป็นต้นเหตุหนึ่งของโรคตับ อีกทั้งยังส่งผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดในร่างกาย 
  • ปรอท: แค่ชื่อก็ฟังดูอันตราย ซึ่งภัยร้ายของปรอทที่ปนเปื้อนกับน้ำแล้วรับเข้าสู่ร่างกายนั้นคือหายนะที่แท้จริง เมื่อร่างกายคนเรามีปรอทสะสมอยู่ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือส่งผลร้ายแรงต่อระบบประสาทต่าง ๆ เช่น ทำให้ตาพร่ามัว มองไม่ชัด อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบประสาทด้านความจำ อาการความจำเสื่อมอีกด้วยค่ะ 
  • แมงกานีส: หากคุณรู้สึกอ่อนเพลียแบบไร้สาเหตุ นั่นอาจเกิดจากการสะสมของแมงกานีสที่มากเกินไปค่ะ ซึ่งแมงกานีสอาจปนเปื้อนมากับน้ำดื่มที่เราใช้บริโภค ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า มีอาการปวดศีรษะ เยื่อบุในระบบทางเดินอาหารอักเสบ
    และในกรณีเลวร้าย แมงกานีสคือหนึ่งในต้นเหตุของการทำลายระบบประสาททำให้เสี่ยงต่อภาวะการเป็นอัมพาตด้วยเช่นกัน 
  • ทองแดง: จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า หากร่างกายมนุษย์มีทองแดงสะสมเกินกว่า 100 มิลลิกรัม จะส่งผลให้อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีอาการอาเจียน และส่งผลถึงการทำงานของตับเลยทีเดียว

เชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำไม่สะอาด นอกเหนือไปจากโลหะหนักที่สร้างอันตรายแก่ร่างกายได้แล้วนั้น ทุกคนทราบกันดีว่า น้ำไม่สะอาด หรือน้ำที่ไม่ได้รับการกรองและกักเก็บอย่างดี ย่อมมีเชื้อโรคปนเปื้อนที่พร้อมสร้างผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในแบบฉับพลัน หรือในระยะยาว ซึ่งเชื้อโรคที่มักมากับน้ำดื่มมักเป็นต้นเหตุของบรรดาโรคร้าย อาทิ ท้องร่วง ท้องเสีย อาการไข้ อักเสบ ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติ และทางการแพทย์เชื้อโรคที่พบบ่อยในน้ำดื่ม ได้แก่ เชื้อโรคดังนี้ค่ะ 

  • เชื้อโคลิฟอร์ม: เป็นเชื้อโรคที่แท้จริงแล้วมีอยู่แล้วในบริเวณลำไส้ของมนุษย์นะคะ แต่อย่างไรก็ดี หากมีเชื้อโรคชนิดนี้ในปริมาณที่มากเกินไปซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนเราจะได้รับเข้ามาจากน้ำดื่มและอาหารที่ไม่สะอาด เชื้อโรคจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วย ซึ่งมักมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย โดยสามารถเกิดขึ้นในกับผู้คนทุกเพศทุกวัย ซึ่งเชื้อโรคนี้สามารถกำจัดได้ หากมีการต้มน้ำที่ดื่ม หรือน้ำได้ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ หรือผ่านระบบกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพค่ะ 
  • เชื้ออีโคไล: นอกเหนือจากเชื้อโคลิฟอร์มแล้วนั้น เชื้ออีโคไล คือเชื้อโรคอีกหนึ่งประเภทที่มักทำให้ผู้ได้รับเชื้อเกิดอาการป่วย โดยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ คลื่นไส้อาเจียน รวมไปถึงมีภาวะอ่อนเพลีย ซึ่งต้องใช้เวลาพักฟื้นกว่า 5-10 วันถึงจะดีขึ้นเลยทีเดียวค่ะ 

โดยสรุป น้ำใสๆ ที่ดูสะอาด อาจนำมาซึ่งโลหะหนักและเชื้อโรคปนเปื้อน หากเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคที่มิได้ระมัดระวัง การดื่มน้ำแก้วเล็ก ๆ ที่คุณทำอยู่ทุกวี่วันเป็นกิจวัตรประจำวัน ก็อาจเป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงที่แก้ไขยากก็เป็นได้  

Share this post